คำถาม-ตอบ ที่พบบ่อย
  1. จ่ายค่าเบี้ยแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากตัวแทนไม่ส่งเบี้ยให้บริษัทประกันภัย
  2. การโอนส่วนลดประวัติกรณีซื้อรถต่อมา
  3. ผ่อนรถกับลิสซิ่ง ผู้เช่าชื้อเสียชีวิต ชื่อในกรมธรรม์จะเป็นใคร
  4. หนูกัดสายไฟ ในรถยนต์เคลมได้หรือไม่
  5. ซื้อรถยนต์ต่อมา เจ้าของรถคนเดิมสามารถยกเลิกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่
  6. ประกันประเภท 3+ เกิดอุบัติเหตุโดนรถคันอื่นชน แล้วขับหนีไปไม่ทราบทะเบียนรถ
  7. ฝาครอบกระจกและฝาครอบล้อหล่นหาย ประกันชั้น 1 เคลมได้หรือไม่
  8. การพิจารณาสินไหมกรณีมีแผลเดิม อยู่แล้ว
  9. หินกระเด็นใส่รถ กับความเสียหายส่วนแรก
  10. รถถูกชนโดยไม่รู้คู่กรณี ทำไมต้องเสียทั้งส่วนร่วมและประวัติดี
  11. ขับรถชนกำแพง โดยมีการประกันประเภท 1
  12. ทำไมรถเสียหายหนักเวลาซ่อมเราต้องจ่ายเงินเพิ่มทั้งๆ ที่ประกันประเภท1
  13. ในกรมธรรม์ระบุชื่อผู้ขับขี่ แต่ตอนเกิดเหตุคนขับไม่ได้ระบุชื่อในกรมธรรม์
  14. ขับรถชนโดยไม่มีใบขับขี่ ประกันจะรับผิดชอบหรือไม่
  15. คนซ้อนมอเตอร์ไซต์เสียชีวิต จะได้ค่าสินไหมอย่างไร
  16. รถชนกันมีคนเสียชีวิต รถทั้ง 2 คันทำกรมธรรม์และ พรบ ต่างบริษัทประกันภัย สรุปจะเรียกร้องที่บริษัทใด
  17. ขับรถชนคนตาย แต่มีประกันชั้น 1 ต้องรับผิดทุกอย่างตามที่คู่กรณีเรียกร้องหรือ
  18. รถชนคนต่างด้าว
  19. การเคลมประกันไฟไหม้ กรณีทำประกันต่ำกว่าทุน
  20. ข้อควรระวังและข้อเสียในการทำประกันอัคคีภัยผ่านธนาคาร
_______________________________________________________________________________
1. จ่ายค่าเบี้ยแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากตัวแทนไม่ส่งเบี้ยให้บริษัทประกันภัย
Q : ซื้อประกันกับตัวแทนของบริษัทประกันภัยได้รับเอกสารกรมธรรม์และ ใบเสร็จรับเงินเรียบร้อย แต่ตัวแทนไม่นำเงินส่งเข้าบริษัท กรณีอย่างนี้ 1.ใครจะต้องรับผิดชอบ 2.กรมธรรมคุ้มครองหรือไม่

A : กรมธรรม์และใบเสร็จรับเงินถือเป็นหลักฐานที่สำคัญ ถ้ามีการเซ็นต์รับเงินในใบเสร็จรับเงิน และคุณได้เอกสารทั้ง 2 อย่างแล้ว บริษัทที่ระบุในกรมธรรม์ต้องรับผิดชอบ และเกิดความคุ้มครองแล้วครับ
 
_________________________________________________________________________________
2. การโอนส่วนลดประวัติกรณีซื้อรถต่อมา
Q : กรณีซื้อรถต่อมา มีกรมธรรม์เดิมได้ส่วนลดประวัติดี 20% เมื่อต้องการต่ออายุกรมธรรม์ ไม่มีเคลม ได้ส่วนลดประวัติดีเป็น 30% หรือไม่ มีการเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันด้วยครับ
 
A : ไม่ได้ครับ ส่วนลดประวัติดีพิจารณาจากผู้เอาประกันภัยรายเดิมที่ใช้รถ เท่านั้นครับ
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : เบี้ยประกันภัยและส่วนลดประเภทต่าง ๆ
 
_________________________________________________________________________________
3. ผ่อนรถกับลิสซิ่ง ผู้เช่าชื้อเสียชีวิต ชื่อในกรมธรรม์จะเป็นใคร
Q : เช่าซื้อรถมาโดยผู้ถือกรรมสิทธิ์ คือ บริษัท XXXX ผู้ครอบครอง ( ผู้เช่าซื้อ ) คือนายBBB (ซึ่งเสียชีวิตแล้ว) แต่บริษัท XXXX ยังไม่ให้เปลี่ยนชือเป็นผู้ครอบครองคนใหม่ ในคู่มือแจ้งว่าต้องจ่ายค่ารถให้หมดก่อน ถ้าทำประกันประเภท 1 และพรบจะระบุชื่อ เป็นผู้เอาประกันได้

A : ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ดังนั้น ผู้ใช้รถยนต์หรือผู้ครอบครองถือว่ามีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยจึงสามารถเป็นผู้เอาประกันภัยได้
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัย : กฎหมายการประกันภัย : หลักส่วนได้ส่วนเสีย

 
_________________________________________________________________________________
4. ซื้อรถยนต์ต่อมา เจ้าของรถคนเดิมสามารถยกเลิกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ได้หรือไม่
Q : ซื้อรถต่อมา แต่ในสัญญาซื้อขายรถไม่ได้เขียนเรื่องการโอนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ด้วย แต่ได้ยินมาว่าถ้ามีการเปลี่ยนเจ้าของกรมธรรม์จะโอนโดยอัติโนมัติ อย่างงี้เจ้าของกรมธรรม์เก่าสามารถเรียกเวนคืนกรมธรรม์คืนได้ไหมครับ
  
A : การโอนรถยนต์ เป็นการเปลี่ยนแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยทั่วไปความรับผิดของบริษัทประกันจะตามกรมธรรม์ไปด้วย ซึ่งเจ้าของรถคันใหม่สามารถเคลมได้ แต่ในทางเอกสารคือกรมธรรม์ประกันภัยตราบใดที่ยังไม่มีการแจ้งบริษัทประกันภัยให้เปลี่ยนข้อมูล เจ้าของเดิมยังคงมีสิทธิ์ ในกรมธรรม์นั้น ดังนั้นหากยังไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลง และกรมธรรม์ตัวจริงยังอยู่ที่เจ้าของเดิม ทางเจ้าของเดิมมีสิทธิ์ยกเลิกได้
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัย : กฎหมายการประกันภัย : หลักส่วนได้ส่วนเสีย
ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : การเปลี่ยนแปลงเจ้าของรถ
 
______________________________ ___________________________________________________
5. หนูกัดสายไฟ ในรถยนต์เคลมได้หรือไม่
Q : ทำประกันประเภท1 ปรากฎว่าจอดรถไว้ที่บ้านแล้ว หนูเข้าไปกัดสายไฟในห้องเครื่อง และ อะไหล่อื่นๆ อีกบางส่วน ประกันจะรับผิดชอบให้หรือไม่

A : สำหรับกรณีนี้ ถ้ามีการทำประกันประเภท 1 ไว้ สามารถแจ้งเคลมได้ โดยไม่เสียค่าส่วนร่วมแต่อย่างใด นอกจากว่าอะไหล่ที่เสียหายบางส่วน ถ้าต้องมีการเปลี่ยนประกันอาจคิดค่าเสื่อม 50% เช่นแบตแตอรี่
 
_________________________________________________________________________________
6. ประกันประเภท 3+ เกิดอุบัติเหตุโดนรถคันอื่นชน แล้วขับหนีไปไม่ทราบทะเบียนรถ
Q : กรณีรถทำประกันประเภท 3 พลัส แล้วถูกคู่กรณีชนแล้วหลบหนีโดยสอบถามจากพยานเห็นว่าเป็นรถโตโยต้าสีดำ แต่ไม่ทราบทะเบียนรถที่ชัดเจน อยากทราบว่าทางบริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายรถประกันหรือไม่
 
A : การประกันประเภท 3 พลัส ให้ความคุ้มครองรถเอาประกันกรณีรถชนกับรถเท่านั้นและต้องสามารถแจ้งรายละเอียดคู่กรณีได้ว่าเป็นรถของใครหมายเลขทะเบียนยี่ห้อ ถึงจะได้รับความคุ้มครอง ในกรณีที่แจ้งทะเบียนได้ ในทางปฎิบัติจะต้องไปแจ้งความและให้ทางตำรวจเรียกคู่กรณีมาเจรจาก่อน ถ้าสรุปได้ว่าใครถูกหรือผิดประกัน 3+ จึงจะเริ่มทำงาน
เพิ่มเติม ความรู้ทั่วไป : กฎเหล็กในการทำประกันให้ปลอดภัย หัวข้อ 3
ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : ตารางเปรียบเทียบความคุ้มครองการประกันรถยนต์
  
_________________________________________________________________________________
7. ฝาครอบกระจกและฝาครอบล้อหล่นหาย ประกันชั้น 1 เคลมได้หรือไม่
Q : ขับรถใช้งานปกติแล้วปรากฎว่าฝาครอบล้อกับฝาครอบกระจกหลุดหายไปตอนไหนไม่รู้ เคลมประกันชั้น 1 ได้หรือไม่
 
A : การประกันภัยชั้นหนึ่ง  คุ้มครองทุกภัย อาทิเช่น ภัยที่เกิดจากการชน  รถคว่ำ รถสูญหาย หรือเสียหาย หรือถูกไฟไหม้แต่การสูญหาย ต้องสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเกิดจากอุบัติเหตุ หรือถูกขโมยไปก็สามารถเคลมได้ แต่ถ้าแจ้งเคลมว่าขับเฉยๆ แล้วไม่รู้ว่าหายไปไหนอาจตีความได้ว่าสาเหตุมากจากการใช้งาน จึงไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : มีอะไรซ่อนอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
 
_________________________________________________________________________________
8. การพิจารณาสินไหมกรณีมีแผลเดิม อยู่แล้ว
Q
 :  รถของผมมีรถมาชนท้าย ทำให้รถผมกันชนถลอกเป็นรอยและแตก ประกันของคู่กรณียอมรับผิดและเขียนใบเคลมให้ โดยในใบเคลมระบุความเสียหายว่า “ กันชนเป็นรอยมีแผลเก่า” โดยผมไปให้อู่กลางตีราคาออกมา อู่ตีราคาค่าซ่อม กันชน 2000 บาท ผมเอาไปให้บริษัทประกันคู่กรณี เขาตีราคาให้ 1000 บาท หลักปฎิบัติ เป็นอย่างไรครับ
  
A
 :  หลักของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เงื่อนไขกรมธรรม์กำหนดให้บริษัทชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง โดยปกติเมื่อมีแผลก็ต้องทำทั้งชิ้น แต่เนื่องจากกันชนมีแผลเดิมอยู่กอ่นแล้ว และพนักงานบริษัทประกันก็เห็นแผลเดิมนั้น วิธีคิดของทางบริษัทประกันจึงให้เรามีส่วนร่วมในการซ่อมครับ เพราะถือว่าการซ่อมครั้งนี้เราก็ได้ซ่อมแผลเดิมด้วย แต่ที่จะต้องร่วมจ่ายค่าซ่อมมากน้อยหรือไม่จ่ายเลย ก็ต้องต่อรองกันครับ
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : ส่วนร่วมจากค่าเสื่อม
 
_________________________________________________________________________________
9. หินกระเด็นใส่รถ กับความเสียหายส่วนแรก
Q ผมขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วถูกหินกระเด็นใส่ฝากระโปรงหน้าเป็นรอยลักยิ้ม (รอยบุบเล็ก) หากนำไปเคลมประกันจะต้องเสียค่าส่วนแรกหรือไม่ครับ ผมใช้ประกันชั้น 1 ครับ
  
A ในเรื่องของความเสียหายส่วนแรกนั้นมีหลายกรณี แต่ของคุณคือกรณีที่ความเสียหายอันมิได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ หรือกรณีที่เกิดจากการชนแต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งต้องเสีย 1,000 บาท เพราะลักษณะของแผลไม่ได้เกิดจากการชนหรือการคว่ำ
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : การเคลมแผลโดนสะเก็ดหินที่ตัวถังรถ
: ส่วนร่วมจากความเสียหายอันไม่ได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ
 
_________________________________________________________________________________
10. รถถูกชนโดยไม่รู้คู่กรณี ทำไมต้องเสียทั้งส่วนร่วมและประวัติดี
Q : ทำประกันชั้น 1 จอดรถไว้ที่ลานจอดรถ มีรถคันอื่นชนแล้วหนี ทำไมต้องเสีย excess และเสียประวัติดีด้วย ทั้ง ๆ ที่เราจอดไว้เฉยๆ มีพยานเป็นเจ้าหน้าลานจอดรถว่าเราไม่ได้ทำเอง แต่ไม่ทราบทะเบียนคู่กรณี
 
A : ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง 1,000 บาทแรกในกรณีของความเสียที่หายอันมิได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ หรือกรณีที่เกิดจากการชนแต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในกรณีจึงเนื่องมาจากเราไม่สามารถแจ้งรายละเอียดของคู่กรณีได้ ในส่วนของพนักงานเคลมเมื่อมีกฎที่กำหนดไว้ชัดเจนเขาก็ต้องทำหน้าที่ แต่ทางแก้ในเรื่องส่วนร่วม แนะนำให้ทำหนังสือขออนุโลมกับบริษัทประกันภัย โดยอาจทำเองหรือให้ตัวแทนที่ดูแลคุณเป็นคนดทำ ถ้ารถเราไม่เคยเคลมมาก่อน หรือประกันกับบริษัทประกันนี้มาอย่างต่อเนื่อง บริษัทอาจอนุโลมให้ไม่ต้องเสียส่วยร่วมได้ ส่วนเรื่องประวัติดีเนื่องจาก บริษัทประกันไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในการซ่อมรถของเราจากใครได้ เราจึงต้องเป็นฝ่ายผิด ทำให้เสียส่วนลดประวัติ
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : ส่วนลดประวัติดี
: ส่วนร่วมจากความเสียหายที่แจ้งคู่กรณีไม่ได้
 
_________________________________________________________________________________
11. ขับรถชนกำแพง โดยมีการประกันประเภท 1
Q
 : ทำประกันชั้น 1 รถชนกำแพง ฝั่งขวายุบ ล้อขวายางแตก ไฟแตก ต้องเปลี่ยนยางประกันบอกว่ายางจ่ายแค่ 50 % เราก็ OK ประกันก็เอารถไปเข้าอู่ วันที่ 20 มี.ค.แล้วบอกให้เราเอาเอกสารไปให้อู่วันที่ 21 มี.ค. เราเอาเอกสารไปที่อู่เค้าก็บอกว่าสั่งอะไหล่แล้วใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพราะต้องรออะไหล่ด้วย เราก็ขอบคุณแล้วกลับบ้าน วันที่ 25 ผ่านไป แถวนั้นเลยแวะไปดูรถ ที่อู่ก็ต้อนรับดีบอกว่าอะไหล่ยังมาไม่ครบ ซ่อมไป รอไป ฝากระโปรงมาแล้ว ต้องเปลี่ยนโช๊ค กระจังหน้ายังไม่มา เค้าก็เล่าให้ฟังเราก็ ok ไม่มีอะไร ก็กลับบ้าน พอวันจันทร์ที่ 28 เพื่อนถามว่ารถเสร็จเมื่อไหร่ เราก็บอกว่าประมาณ 1 เดือน เค้าบอกว่าต้องเปลี่ยนโช๊ค เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เราก็เล่าให้เพื่อนฟังไป เพื่อนก็บอกว่า เรามันจะนิ่มเท่ากันไม๊ถ้าเปลี่ยนโช๊คข้างเดียว เราก็เหรอ ไม่ค่อยรุ้เรื่องรถ เพื่อนบอกว่าก็ลองโทรไปถามที่อู่ซิว่า ถ้าเปลี่ยนอีกข้างนึงเราออกตังค์ เองเท่าไหร่ เราก็เลยโทรไปที่อู่ เจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องบอกว่าเดี๋ยวให้ผู้จัดการโทรกลับ พอตอนเย็นๆ ที่อู่ก็โทรมาบอกราคาเรา แล้วก็บอกอีกว่ารู้แล้วหรือยังโช๊คประกันจ่ายแค่ 50% เพราะมันใช้ไปแล้วสึกหรอเสื่อมตามเวลา เราก็งงๆ แล้วก็บอกอีกว่า ลูกหมากแร๊ค ประกันจ่ายแค่ 50 % เหมือนกันเราก็ งง ๆ อะไรเนี้ย เราก็ถามว่าอ้าวแล้วประกันทำประกันไม่ต้องแจ้งลูกค้าก่อนเหรอ แล้วก็ถามอู่ว่าเค้าแจ้งอู่มาเมื่อไหร่ อู่ก็บอกว่าวันนี้แจ้งมาทางคอมพิวเตอร์ แล้วก็บอกว่าให้เราโทรไปถามประกันก็ได้ ก็เลยสงสัยค่ะว่าปกติเป็นแบบนี้หรือเปล่าค่ะ ยังไม่ได้โทรไปถามที่ประกันเลย เพราะไม่ค่อยรู้เรื่องก็เลยอยากสอบถามก่อนค่ะ
  
A
 : การจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการประกันวินาศภัย จะประเมินราคาขณะเกิดความเสียหาย และจ่ายหรือจัดซ่อมให้กลับสู่สภาพเดิมครับ กรณีของคุณต้องดูว่ารถใช้มากี่ปี อะไหล่ที่เสียหายประเมินแล้วมีสภาพอย่างไร การที่บริษัทเหมาจ่ายร้อยละ 50 บางกรณีเราเจรจาต่อรองกันได้ครับถ้าเห็นว่าสภาพของความเสียหายและการประเมินไม่ตรงกับที่เสียหายจริง
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : การเคลมไม่มีคู่กรณี เบียดเสา เบียดประตู
: ส่วนร่วมจากการเปลี่ยนอะไหล่ที่มีค่าเสื่อม
 
_________________________________________________________________________________
12. ทำไมรถเสียหายหนักเวลาซ่อมเราต้องจ่ายเงินเพิ่มทั้งๆ ที่ประกันประเภท1
Q
 : รถประสบอุบัติเหตุรุนแรงเสียหายมาก ประกันจะให้ขายซากคืนอย่าง โดยคืนทุนจะได้ 440,000 บาท แต่รถคันนี้เพิ่งออกมาแค่ 2 เดือน ขาดทุนมากแถมไม่มีรถใช้ เลยขอให้ซ่อมไป ประกันจะจ่ายแค่ค่าซ่อม 280,000 เท่านั้นแต่ค่าซ่อมตั้ง 310,000 จะให้เราเสียเงินเพิ่มเองอีก 30,000 บาท (ซ่อมศูนย์โตโยต้า) อยากถามว่าเราจำเป็นต้องเสียเงินให้อีกเหรอคะ เพราะรถออกมาใหม่และทุนคุ้มครองตั้ง 440,000 บาท ทางศูนย์เขาบอกว่าประกันไม่ยอมจ่ายหมดลูกค้าต้องเสียเพิ่มเอง
  
A
 : โดยปกติประกันจะให้คืนทุนหรือขายซากคืนกรณีที่ความเสียหายของตัวรถเกิน 70% ของทุนประกัน ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายสิ้นเชิง ซึ่งกรณีนี้ความเสียหายของทุนประกัน 70% ก็ต้องอยู่ที่ 308,000 บาท แต่ค่าซ่อมอยู่ที่ 310,000 บาท ก็จัดว่าเป็นความเสียหายสิ้นเชิงได้ ซึ่งในกรณีนี้เนื่องจากเป็นรถใหม่และจากความเสียหายที่เกิดขึ้นอะไหล่บางส่วนของรถคันนี้น่าจะยังดีอยู่และสามารถนำไปถอดขายชิ้นส่วนได้ ทางประกันจึงแนะนำให้ผู้เอาประกันขายซากคืน โดยคืนทุนให้ 440,000 บาท แล้วประกันก็จะนำชิ้นส่วนไปขาย ซึ่งคาดว่าน่าจะขายได้ 160,000 บาทขึ้นไป ( เป็นการคาดเดา ) จึงเป็นที่มาว่าถ้าเราซ่อมทำไมประกันจ่ายให้เพียง 280,000 บาท ( ซึ่งเป็นเพียง 63% ของทุนประกัน ) เพราะเขาไปชั่งน้ำหนักกลับกรณีขาดซากซึ่งเขาจะเสียอยู่เบ็ดเสร็จเท่านี้เช่นกันครับ ก็ควรต่อรองเรื่องค่าซ่อมให้มากขึ้นครับ
เพิ่มเติม ความรู้ทั่วไป : กฎเหล็กในการทำประกันให้ปลอดภัย หัวข้อ 1
ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : การคืนทุนรถยนต์
 
_________________________________________________________________________________
13. ในกรมธรรม์ระบุชื่อผู้ขับขี่ แต่ตอนเกิดเหตุคนขับไม่ได้ระบุชื่อในกรมธรรม์
Q : ทำประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่ หากเกิดกรณีชนโดยที่เราเป็นฝ่ายผิด และบุคคลที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อเป็นผู้ขับขี่ เราต้องรับผิดชอบอย่างไร สำหรับรถเราและรถคู่กรณี
  
A : หากให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่ระบุชื่อในกรมธรรม์เป็นผู้ขับขี่ และเป็นฝ่ายผิด ไม่เป็นเหตุให้บริษัทปฏิเสธความรับผิดได้ เพียงแต่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเข้ามาร่วมรับผิดในความเสียหายส่วนแรก ดังนี้  คือ  2,000 บาทแรก ของความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และ 6,000 บาทแรก ความเสียหายต่อรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัยรถยนต์ : ส่วนลดประเภทต่างๆ การระบุชื่อผู้ขับขี่
 
_________________________________________________________________________________
14. ขับรถชนโดยไม่มีใบขับขี่ ประกันจะรับผิดชอบหรือไม่
Q : ซื้อประกันชั้นหนึ่งมาได้ หนึ่งสัปดาห์ ขับรถชนท้ายรถอีกคันหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ทำใบขับขี่รถยนต์ แจ้งเหตุประกันตามความจริง ภายหลังเกิดเหตุ 2 วันไปทำใบขับี่ แต่ประกันแจ้งว่าไม่สามารถคุ้มครองได้ เนื่องจากไม่มีใบขับขี่ เลยอยากทราบว่าพอจะมีแนวทางแก้ไขหรือขอความช่วยเหลืออะไรจากประกันได้บ้างหรือไม่

A : หมวดความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ 
ข้อ  9 ข้อยกเว้นการใช้อื่น ๆ การประกันภัยไม่คุ้มครอง
9.4  การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ หรือเคยได้รับ แต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย หรือใช้ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ไปขับขี่รถยนต์  คือในกรณีรถยนต์ของผู้เอาประกันเอง จะไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากการที่ไม่มีใบขับขี่ถือเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครอง , ส่วนรถของคู่กรณียังคงได้รับความคุ้มครองตากปกติ


_________________________________________________________________________________
15. คนซ้อนมอเตอร์ไซต์เสียชีวิต จะได้ค่าสินไหมอย่างไร
Q : กรณีรถจักรยานยนต์ถูกรถยนต์ชน คนซ้อนเสียชีวิต เราจะได้ค่าสินไหมเท่าไหร่ โดยตำรวจลงบันทึกว่ารถยนต์ผิด
  
A : รถฝ่ายผิดจะเป็นฝ่ายจ่ายค่าสินไหมทดแทน จะจ่ายเท่าไรก็ต้องดูว่ารถยนต์มีประกันภัยอะไรบ้าง ถ้ามีแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผ้ประสบภัยจากรถก็จ่ายเต็มตาม พ.ร.บ.คือ 200,000.-บาทครับ ถ้ามีประกันประเภทอื่นด้วย ก็ต้องไปดูรายละเอียดของความคุ้มครองตามกรมธรรม์นั้นๆ
เพิ่มเติม ความรู้ทั่วไป : กฎเหล็กในการทำประกันให้ปลอดภัย หัวข้อ 1
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ขอบเขตการชดเชยตาม พรบ
เล่าเรื่องประกันผ่านเรื่องราว : รถชนยังไงตำรวจไทยถึงจะยุ่ง ตอนที่ 1 และ 2
 
_________________________________________________________________________________
16. รถชนกันมีคนเสียชีวิต รถทั้ง 2 คันทำกรมธรรม์และ พรบ ต่างบริษัทประกันภัย สรุปจะเรียกร้องที่บริษัทใด
Q
 : เกิดอุบัติเหตุระหว่างรถยนต์-รถจักรยานยนต์ รถยนต์เป็นฝ่ายประมาท รถจักรยานยนต์เสียหายและคนขับรถจักรยานยนต์เสียชีวิต รถยนต์ทำประกันชั้น 1 กับบริษัทหนึ่ง และทำประกันพ.ร.บ.ภาคบังคับ) กับอีกบริษัทหนึ่ง ส่วนรถจักรยานยนต์ทำพ.ร.บ.ภาคบังคับกับบริษัทกลางฯ กรณีดังกล่าวนี้ ญาติคนขับที่เสียชัวิตจะสามารถเบิกค่าปลงศพและค่าสินไหมทดแทนกับใครได้บ้าง จำนวนเท่าใด

A
 : กรณีที่ผลทางคดีไม่สิ้นสุด สามารถเบิกค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับค่าปลงศพได้จำนวน 35,000 บาท จากบริษัทที่รถคันที่ผู้เสียชีวิตได้ซื้อ พรบ. ไว้ และเมื่อผลทางคดีสิ้นสุดสามารถเบิกได้เพิ่มจาก บริษัทประกันภัยฝ่ายที่รถคันที่ผิดซื้อ พรบ.ไว้ แต่รวมแล้วทั้งหมดไม่เกิน 200,000 บาท แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้น หากมีผลคดีว่าทางฝ่ายรถยนต์เป็นฝ่ายประมาทแล้ว สามารถเบิกค่าปลงศพได้ในส่วนของ พรบ.จำนวน 200,000 บาท จากบริษัทประกันภัยที่ขาย พรบ. ให้รถยนต์ และสามารถเรียกค่าสินไหมในส่วนที่เกิน พรบ. ต่อไปอีกกับบริษัทที่ทำประกันภัยชั้น 1 ตามฐานานุรูป แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท กรณีค่าซ่อมรถจักรยานยนต์เรียกได้กับบริษัทที่ทำประกันภัยชั้น 1 ไว้เท่านั้น
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการซื้อ พรบ. กับกรมธรรม์ประกันภัย ต่างบริษัทประกันภัยกัน จะสร้างความยุ่งยากมากเวลาที่เกิดเหตุคนเจ็บและเสียชีวิต เนื่องจากต้องติดต่อหลายฝ่าย
เพิ่มเติม ความรู้ทั่วไป : กฎเหล็กในการทำประกันให้ปลอดภัย หัวข้อ 1
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ขอบเขตการชดเชยตาม พรบ
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ทำไมพรบ และ กรมธรรม์ควรเป็นบริษัทประกันภัยเดียวกัน
 
_________________________________________________________________________________
17. ขับรถชนคนตาย แต่มีประกันชั้น 1 ต้องรับผิดทุกอย่างตามที่คู่กรณีเรียกร้องหรือ
Q : กรณีเจ้าของรถขับรถชนคนขับมอเตอร์ไซด์เสียชีวิต ได้แจ้งประกัน XXX (ชั้น1) แล้วทางประกันก็เข้ามาดูแลคดีตลอด ทางผู้เสียชิวิตเรียกค่าเสียหายกับผู้ขับรถชน 200,000 บ. โดยทางเจ้าของรถก็ได้จ่ายไปให้ แล้วทวงถามกับประกันมาตลอดแต่ก็ไม่ได้มาชำระคืนให้เลย ซึ่งระหว่างนั้นกำลังขึ้นศาลอยู่จึงไม่ได้ฟ้องประกันต้องรอให้ศาลตัดสินก่อน ต่อมาจึงไปฟ้องประกัน แต่ทางประกันกับอ้างเรื่องคดีหมดอายุความ จะทำอย่างไรได้บ้างจะได้เงินคืนไหม
  
A : โดยปกติแล้ว ไม่ควรสำรองจ่ายไปก่อน ควรให้ประกันเป็นผู้จ่าย โดยต้องสรุปตัวเลขที่ประกันยินดีจ่ายให้คู่กรณีให้เรียบร้อยก่อน เพราะเขาจะมีหลักเกณฑ์ของเขา ส่วนเราจะจ่ายเพิ่มเติมให้คู่กรณีต่างหากหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ดูตามความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นคดีไม่ควรมีการจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่คู่กรณี เพราะแสดงว่ายังไม่สามารถตกลงเรื่องค่าสินไหมกันได้ แต่ทุกครั้งที่มีการตกลงกันเรื่องค่าสินไหมให้มีการบันทึกที่ สน. ทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในทางคดีว่าเราติดตามเรื่องและพร้อมจะชดใช้เพียงแต่ตกลงกันเรื่องจำนวนค่าสินไหมไม่ได้ จึงต้องพึ่งบารมีศาล
การที่จ่ายให้คู่กรณีไปก่อน โดยยังไม่มีการยอมความกันที่ สน. จึงเป็นช่องว่างให้ประกันสามารถทำเช่นนั้นได้ ถ้าจะให้ดีเมื่อตกลงกับคู่กรณีได้แล้ว ก็ควรยอมความกันให้เรียบร้อย และยอมจ่ายค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มขึ้นอีกนิดเพื่อให้คดีไม่ถึงศาล
เพิ่มเติม ความรู้ทั่วไป : กฎเหล็กในการทำประกันให้ปลอดภัย หัวข้อ 1
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ขอบเขตการชดเชยตาม พรบ
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ทำไมพรบ และ กรมธรรม์ควรเป็นบริษัทประกันภัยเดียวกัน
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : เอกสารที่ใช้ในการเบิก พรบ
เล่าเรื่องประกันผ่านเรื่องราว : รถชนมีคนเจ็บ ตอนที่ 1 - 5

   
_________________________________________________________________________________
18. รถชนคนต่างด้าว
Q : ทำประกันไว้แล้วรถไปชนชาวพม่าเสียชีวิต กรณีนี้นายจ้างจะขอรับเงินค่าปรงศพจากบริษัท.ประกันได้หรือไม่ (มีบัตรต่างด้าว)
  
A : ผู้ที่จะรับค่าปลงศพ ต้องมีส่วนได้เสียกับผู้เสียชีวิต ซึ่งในกรณีนี้คนพม่าถูกรถชนเสียชีวิต  ทายาทสามารถขอรับเงินค่าปลงศพได้
เพิ่มเติม ความรู้ประกันภัย : กฎหมายการประกันภัย : หลักส่วนได้ส่วนเสีย
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ความหมายที่ควรทราบเกี่ยวกับกรมธรรม์ภาคบังคับ
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : ขอบเขตการชดเชยตาม พรบ
ความรู้เกี่ยวกับ พรบ : เอกสารที่ใช้ในการเบิก พรบ
 
_________________________________________________________________________________
19. การเคลมประกันไฟไหม้ กรณีทำประกันต่ำกว่าทุน
Q : เนื่องจากได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน ทางธนาคารจึงบังคับให้ทำประกันอัคคีภัยผ่านทางธนาคารโดยธนาคารเป็นคนจัดการรายละเอียดให้โดยส่งเข้าบริษัทประกันภัยในเครือของธนาคาร ปรากฎได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้านหลังนี้ เวลาผ่านไป 3 เดือนแล้ว ทางบริษัทประกันยังไม่ได้จ่ายเคลมให้กับทางผู้เอาประกันภัยเลย โดยอ้างว่าผู้เอาประกันภัยประกันต่ำกว่าทุนที่แท้จริง จึงใคร่ขอความคิดเห็นว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรกับบริษัทประกัน
  
A : การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะจ่ายให้ไม่เกินค่าเสียหายที่แท้จริง กรณีประกันอัคคีภัยเมื่อเกิดเหตุและตรวจสอบแล้วมีการทำประกันภัยต่ำกว่าทุน บริษัท ฯ ก็จะพิจารณาจ่ายตามสัดส่วนที่เอาประกันภัยไว้
เพิ่มเติม ความรู้ประกันอัคคีภัย : ประเภทของทรัพย์สินที่ประกัน
ความรู้ประกันอัคคีภัย : การกำหนดมูลค่าของทุนประกัน
 
_________________________________________________________________________________
20. ข้อควรระวังและข้อเสียในการทำประกันอัคคีภัยผ่านธนาคาร
Q : เนื่องจากได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน ทางธนาคารจึงบังคับให้ทำประกันอัคคีภัยผ่านทางธนาคารโดยธนาคารเป็นคนจัดการรายละเอียดให้โดยส่งเข้าบริษัทประกันภัยในเครือของธนาคาร ปรากฎได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้านหลังนี้ เวลาผ่านไป 3 เดือนแล้ว ทางบริษัทประกันยังไม่ได้จ่ายเคลมให้กับทางผู้เอาประกันภัยเลย โดยอ้างว่าผู้เอาประกันภัยลดทุนประกัน ซึ่งทางผู้เอาประกันภัยไม่ทราบมาก่อน การลดทุนเกิดจากเจ้าหน้าที่ธนาคารดำเนินการให้เอง และจะติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารก็ไม่รู้จะติดต่อใคร จึงใคร่ขอความคิดเห็นว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรกับบริษัทประกัน หรือธนาคารดังกล่าว
 
A : โดยปกติเมื่อกู้เงินธนาคารก็จะถูกบังคับให้ทำประกันผ่านธนาคาร ซึ่งจริงๆ แล้ว มีข้อเสียหลายอย่าง
ข้อแรกคือเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มีความรู้เกี่ยวกับการประกันอย่างแท้จริงอาจทำให้รายละเอียดการประกันไม่ครบถ้วน
ข้อที่สองธนาคารจะทำทุนประกันเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเท่านั้น ซึ่งก็คือสิ่งปลูกสร้าง โดยที่ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์ ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้พักอาศัยจะไม่มีวงเงินคุ้มครอง ดังเช่นกรณีนี้จึงทำให้ทุนประกันตต่ำกว่าความเป็นจริง และเกิดปัญหาตามมา ดังนั้นในส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างให้ทำกับทางธนาคารเพราะเป็นข้อผูกมัด แต่ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์แนะนำให้นำมาทำเอง แยกต่างหากออกมา เพราะทางเราสามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านทางธนาคาร ประกอบกับสามารถทำรายละเอียดการประกันได้ครบถ้วนชัดเจนกว่า
ข้อที่สาม เวลาเกิดเหตุไม่รู้จะติดต่อใคร เพราะหนักงานธนาคารจะไม่มาประสานงานให้กับทางเรา
 
 

Copyright © 2011 All rights reserved. by puremindinsurance.com
Engine by MAKEWEBEASY